คัมภีร์มรณะ (Book of the Dead) คู่มือการเดินทางสู่ยมโลก

    ชีวิตหลังความตายเป็นความเชื่อที่ชาวอียิปต์โบราณให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าเมื่อพวกเขาตายไป จะเป็นการเริ่มต้นการเดินที่ยาวนานและแสนอันตรายเพื่อไปยังทุ่งต้นกกหรือสวรรค์อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า แต่การไปที่นั้นพวกเขาจะต้องมีคัมภีร์เวทมนต์เพื่อเป็นคู่มือในการเดินทาง  ซึ่งเรียกว่า “คัมภีร์มรณะ (Book of the dead)” 

                                  
                                 The Papyrus of Ani, a text of The Egyptian Book of the Dead.
                             ที่มา : https://www.worldhistory.org/image/6550/papyrus-of-ani/

    คัมภีร์มรณะมีชื่อเรียกเป็นอักษรภาพเฮียโรกลิฟฟิค เรียกว่า prt m hrw (อ่านว่า เพเรต เอม เฮรู) แปลตามอักขระว่า Spell  of Coming (Going) Forth By Day พบในสมัยอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) ทำด้วยกระดาษปาปิรุส (Papyrus) เขียนขึ้นโดยพระหรือนักบวช  ซึ่งภายในคัมภีร์ประกอบไปด้วยพิธีกรรม คาถาอาคม บทสวดที่ป้องกันไม่ให้วิญญาณเสื่อมสลาย บรรยายการตัดสินความดีชั่วที่หอพิพากษาของเทพโอซิริส คำสอน รวมถึงภาพประกอบ ถูกบันทึกด้วยอักษรสีดำ ส่วนหัวข้อหรือคำสำคัญต่าง ๆ บันทึกด้วยอักษรสีแดง มีประมาณสองร้อยบท โดยจะแบ่งเป็นบทต่าง ๆ และมีตัวเลขกำกับไว้ทุกบท

    โดยคัมภีร์มรณะพัฒนามาจากจารึกตามพีระมิดและโลงศพ (Pyramid Texts, Coffin Texts) ซึ่งจารึกตามพีระมิดจะใช้สำหรับผู้ตายที่เป็นฟาโรห์ พระราชินี พระสนม ตลอดจนเชื้อพระวงศ์พบในสมัยอาณาจักรเก่า และจารึกโลงศพใช้สำหรับบุคคคลธรรมดา พบในสมัยอาณาจักรกลาง ต่อมาในสมัยอาณาจักรใหม่ก็มักจะทำโลงศพให้มีขนาดพอดีกับร่างของมัมมี่ ส่งผลให้ไม่มีพื้นที่ที่จะจารึกข้อความได้เช่นเดิม จึงทำให้มีการประดิษฐ์คัมภีร์มรณะขึ้นมาใช้ โดยตำแหน่งการวาง มักจะวางไว้ตรงฐานโลงศพหรือระหว่างขาของมัมมี่ 

                         
                                              คัมภีร์สองทางในจารึกโลงศพ (Coffin Texts)
                                     ที่มา : https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1812331  
    
    ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า เมื่อตายไปแล้วดวงวิญญาณต้องไปยังยมโลกซึ่งจะพบจะต้องเทพอนูบิส (Anubis) ผู้มีร่างเป็นคน และมีศีรษะเป็นหมาในสีดำ จะนำพาดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่ยมโลก หลังจากที่ดวงวิญญาณผู้ตายมาสู่ยมโลกสิ่งหนึ่งที่เผชิญคือการปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา (Negative Confession) ต่อหน้าเทพตุลการทั้ง 42 พระองค์ ว่าตนนั้นไม่เคยทำความผิดบาป 42 ประการเมื่อตอนยังมีชีวิต เช่น ไม่เคยชักชวนให้ผู้อื่นเสียคน ไม่เคยใส่ร้ายป้ายสีใคร ไม่เคยกล่าวคำเท็จ ไม่เคยเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เคยฉ้อฉล ไม่เคยสั่งฆ่าผู้ใด ไม่เคยฆ่าใคร ไม่เคยลบหลู่ดูหมิ่นพระเจ้า และไม่เคยทำในสิ่งที่พระองค์รังเกียจ เป็นต้น ซึ่งคัมภีร์มรณะจะเขียนวิธีการพูดปฏิเสธต่อหน้าเทพตุลากรไว้เรียบร้อย
       
    หลังจากกล่าวปฏิเสธต่อหน้าเทพตุลาการทั้ง 42 พระองค์แล้ว เทพอนูบิสจะนำพาดวงวิญญาณของผู้ตายไปยังห้องตัดสิน เพื่อชั่งน้ำหนักของหัวใจกับขนนกของเทพีมะอาท (Maat) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม โดยมีเทพธอธ (Thoth) ผู้มีศีรษะเป็นนกกระสาคอยจดบันทึก  

                                         การชั่งน้ำหนักหัวใจเทียบกับขนนกของเทพีมะอาท
                              ที่มา : https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1812331

    หากน้ำหนักหัวใจของผู้ตายหนักกว่าขนนกของเทพีมะอาท นั่นหมายความว่าผู้ตายเป็นคนชั่ว สิ่งที่พูดเป็นเท็จ ถือว่าไม่ผ่านบททดสอบ จะถูกอสูรกายอัมมุต (Ammut) ที่มีศีรษะเป็นจระเข้ ขาหน้าเป็นสิงโตและขาหลังเป็นฮิปโป ที่เฝ้าอยู่ใต้ตาชั่งกัดกิน หรือผู้ตายจะไม่ได้ไปยังดินแดนของเทพเจ้า ไม่ได้รับแสงสว่างและอดอยากหิวโหย แต่ถ้าหากน้ำหนักหัวใจเท่าหรือเบากว่าขนนก นั่นหมายความว่า ผู้ตายเป็นคนดี สิ่งที่พูดเป็นความจริง ถือว่าผ่านบททดสอบ เทพโอซิริส (Osiris) ผู้นั่งประทับบนบัลลังก์จะอนุญาตให้ดวงวิญญาณของผู้ตายผ่านเข้าไปสู่ทุ่งต้นกกหรือสวรรค์ตามที่ปรารถนา
       
                                                            เทพโอซิริสตัดสินดวงวิญญาณ
                               ที่มา : https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1812331
              
    ความเชื่อชีวิตหลังความตายของชาวอียิปต์โบราณนั้น ถือเปฺ็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำความดีละเว้นความชั่ว ซึ่งเป็นเหมือนแนวทางหรือการสอนให้คนที่ยังมีชีวิตทำความดีเมื่อตอนยังมีชีวิต เพื่อที่จะไปสู่สวรรค์ตามความปรารถนา แต่ในแง่ของผลประโยชน์ที่พระหรือนักบวชได้รับจากคัมภีร์มรณะนั้น คือการหวังผลกำไรจากการขายคัมภีร์มรณะ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า การซื้อคัมภีร์มรณะถือว่าเป็นการซื้อใบเบิกทางให้ตนได้เข้าไปสู่สวรรค์ตามทีปรารถนา แม้ว่าจะเคยทำผิดมาหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไม่ฝักใฝ่ในการทำความดีและนำไปสู่การเสื่อมของศาสนาและหลักศีลธรรมของอียิปต์โบราณ





อ้างอิง

พรชัย  สังเวียนวงศ์. (2555).  คัมภีร์มรณะ ใบเบิกทางสู่สรวงสวรรค์ ของชาวอียิปต์โบราณ. 
         สืบค้น 27 มกราคม 2565, จาก https://board.postjung.com/646850

วณัฐย์ พุฒนาค. (2563). ‘หนักดั่งขุนเขา เบาดั่งขนนก’ หัวใจบนตาชั่งทองกับการพิพากษา
         สุดท้ายในโลกหลังความตาย. สืบค้น 28 มกราคม 2565, จาก https://kku.world/ime5u

สืบ สิบสาม. (2563).  คัมภีร์ท่องยมโลกของชาวไอยคุปต์. สืบค้น 27 มกราคม 2565,                    

Joshua J. Mark. (2016).  Egyptian Book of the Dead. สืบค้น 28 มกราคม 2565, 
     



 



    
     



Comments