นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copenicus)

    นับเป็นเวลาหลายคริสต์ศวรรษที่แนวคิดดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาลได้รับการยอมรับในวงกว้าง ซึ่งหากย้อนไปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 แนวคิดดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาลนั้นขัดแย้งกับแนวคิดของอริสโตเติลและหลักศาสนา แต่ก็มีบุคคลสำคัญที่เผยแพร่ทฤษฎีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาลจนได้รับการยอมรับและเป็นการพัฒนาด้านดาราศาสตร์ และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เขาคนนั้นคือ "นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copenicus)"

    นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copenicus) เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1473 ที่เมืองโทรุน (Torun) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศโปแลนด์ เขาเติบโตมาในครอบครัวพ่อค้ามั่งคั่ง ซึ่งเขาเป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องทั้ง 4 คน แต่เมื่อเขาอายุได้ 10 ขวบ พ่อของเขาก็เสียชีวิตลง ทำให้เขาเติบโตมาภายใต้การเลี้ยงดูจากลุงของเขา ผู้ที่รับอุปการะและช่วยเหลือด้านการศึกษาให้แก่เขา ในปีค.ศ. 1491 ขณะที่เขาอายุได้ 18 ปี เขาได้เข้ารับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองคราคอฟ (University of Cracow) ที่โปแลนด์ ซึ่งเขามีโอกาสได้ศึกษาวิชาต่างๆมากมาย เพื่อเตรียมความพร้อมในการศึกษาวิชาแพทย์ต่อไป เช่น ศิลปศาสตร์ ปรัชญา คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และดาราศาสตร์ เป็นต้น จากการที่เขาได้ศึกษาด้านดาราศาสตร์ทำให้เขาเริ่มมีความสนใจและอยากจะศึกษาต่อในด้านนี้  แต่ยังไม่ทันสำเร็จวิชาดาราศาสตร์ เขาก็ย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเมืองโบโลญญา (University of Bologna) ประเทศอิตาลี

    จากนั้นในปี ค.ศ. 1503 โคเปอร์นิคัสได้เขารับการศึกษาด้านกฎหมายจนถึงระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยเฟอร์รารา ประเทศอิตาลี หลังจากสำเร็จการศึกษษเขาจึงได้กลับไปที่โปแลนด์ แต่ลุงของเขามุ่งหวังอยากให้เขาเป็นแพทย์  เขาจึงได้กลับมาศึกษาต่อในด้านการแพทย์ต่อที่มหาวิทยาลัยปาดัว จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาา ทำให้เขาเชี่ยวชาญในหลายด้าน ทั้งกฎหมาย การแพทย์ ปรัชญา ศาสนา ภาษาลาติน และดาราศาสตร์  

    โคเปอร์นิคัสเรียนจบแพทย์ในปี ค.ศ. 1506 และเดินทางกลับมาที่โปแลนด์ในปีเดียวกัน ต่อมาในปี ค.ศ. 1512 ลุงของเขาก็เสียชีวิต เขาจึงหันมาสนใจด้านดาราศาสตร์อย่างจริงจัง และได้เดินทางไปอยู่ที่เมืองฟรอนบูรก์ (Frauenburg) เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับดาราศาสตร์ รวมทั้งใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนด้านการแพทย์มาช่วยรักษาผู้ป่วยยากจนในเมืองโดยไม่คิดค่ารักษาพยาบาล

    ในปี ค.ศ. 1514 เขามีชื่อเสียงในฐานะนักดาราศาสตร์ ส่งผลให้เขาได้เป็นที่ปรึกษาผู้นำคริสตจักรที่พยายามปฏิรูปปฏิทินจูเลียน เขาได้ทำการศึกษาค้นคว้า โดยยึดหลักทฤษฎีของนักดาราศาสตร์ท่านอื่น เพื่อศึกษาไว้เป็นแนวทางเกี่ยวกับการหมุนรอบตัวของดวงอาทิตย์ โดยเริ่มจากทฤษฎีของอาคีสทาร์คัส (Akistarchus) ที่กล่าวว่า "ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล" ทฤษฎีของปโตเลมี (Ptolemy) ที่กล่าวว่า "โลกเป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล" ซึ่งมีอาริสโตเติล นักปราชญ์เอก เป็นผู้สนับสนุนทฤษฎีของปโตเลมี เนื่องจากเดิมทีในช่วงศตวรรษที่ 16 แนวคิดเรื่องจักรวาลวิทยาของยุโรป มีแนวคิดที่ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยมีท้องฟ้าและกลุ่มดาวต่างๆโคจรรอบโลก อีกทั้งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว คือสิ่งที่สวรรค์เป็นผู้จัดเรียงขึ้นเป็นวงกลม แนวคิดนี้เป็นสิ่งนี้เป็นแนวคิดที่นักปรัชญาโบราณหรือแม้แต่อริสโตเติลให้การสนับสนุนและยอมรับมัน รวมทั้งทางศาสนจักร  เขาจึงเริ่มทำการค้นคว้าและหาข้อพิสูจน์ทฤษฎีเหล่านี้ จนกระทั่งเขาสามารถสรุปหาข้อเท็จจริงได้ว่าทฤษฎีของอาคีสทาร์คัสที่เขาเชื่อถือนั่นถูกต้องที่สุด นั่นคือ ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล โลกและดาวเคราะห์ดวงอื่นๆต้องโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งทฤษฎีนี้จะขัดแย้งกัทฤษฎีอริสโตเติลและหลักศาสนา 

                                        ที่มา : https://spaceth.co/iau-planet-definition/

    ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้เขาไม่สามารถเผยแพร่ทฤษฎีใหม่ของเขาได้อย่างเปิดเผยยิ่งนัก เขาไม่ได้ตีพิมพ์หนังสืออย่างเป็นทางการ แต่จอร์จ โจคิม เรติคัส (George Joachim Rheticus) นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ที่ทำงานร่วมกับเขาก็ได้ขอร้องให้เขาเปิดเผยผลงานเพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นการพัฒนาด้านดาราศาสตร์ให้ก้าวไปอีกขั้น จนในที่สุดโคเปอร์นิคัสจึงยอมทำตามคำขอของจอร์จ และได้ส่งผลงานไปให้เพื่อนของเขาที่เมืองนูเรมเบิร์ก ( Nuremburg) ในประเทศเยอรมนีตีพิมพ์ แต่เพื่อนของจอร์จก็ไม่ได้ตีพิมพ์ผลงาน 

    จนกระทั่งโคเปอร์นิคัสเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1543 ผลงานของเขาจึงได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่สู่สาธารณะ ที่มีชื่อว่า การปฏิวัติทางโคจรแห่งดาวบนฟากฟ้า (De Revolutionibus Orbrium Codestium) มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า On the Revolutions of the Heavenly Bodies หรือที่รู้จักกันดีในชื่อว่า Revolutions มีทั้งหมด 6 เล่ม ด้วยกัน หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบสุริยจักรวาลที่โคเปอร์นิคัสเป็นผู้ค้นพบ โดยสามารถสรุปเป็นทฤษฎีได้ทั้งหมด 3 ข้อ คือ

    1. ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาล โดยโลกและดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ต้องหมุนรอบดวงอาทิตย์ โดยใช้เวลา 365 วันหรือ 1 ปี ซึ่งทำให้เกิดฤดูกาลขึ้น
    2. โลกมีสัณฐานกลมไม่ใช่แบนอย่างที่เข้าใจ โดยโลกใช้เวลาหมุนรอบตัวเอง 1 วันหรือ 24 ชั่วโมง และทำให้เกิดกลางวันและกลางคืน
    3. ดาวเคราะห์ต่างๆที่โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นไปในลักษณะเป็นวงกลม โคเปอร์นิคัสได้เขียนรูปภาพแสดงลักษณะการโคจร แต่ทฤษฎีของเขายังมีข้อผิดพลาดเพราะเขากล่าวว่า "การโคจรของดาวเคราะห์รอบด้วงอาทิตย์เป็นวงกลม" แต่นักดาราศาสตร์รุ่นหลัง โจฮันเนส เคพเลอร์ (Johanes Kepler) ได้ค้นพบว่า การโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์มีลักษณะเป็นวงรี 

ที่มา : https://kku.world/kbcyj

    การค้นพบทางดาราาสตร์ดงักล่าวของโคเปอร์นิคัส ถือเป็นการพัฒนาก้าวสำคัญอีกหนึ่งก้าวของวงการดาราศาสตร์ ถึงแม้ว่าแบบจำลองของเขาจะไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด แต่ทฤษฎีของเขาก็สามารถนำมาต่อยอดในด้านดาราศาสตร์แก่นักดาราศาสตร์คนอื่นๆในรุ่นหลังได้ ไม่ว่าจะเป็น โจฮันเนส เคปเลอร์ หรือนักวิทยาศาสตร์แถวหน้าในยุคต่อมาอย่างกาลิเลโอ 
    นอกจากนี้ทฤษฎีที่นิโคลัส โคเปอร์นิคัสได้เผยแพร่ยังทำให้โลกตะวันตกสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ความเชื่อสมัยใหม่ที่หลุดพ้นจากการครอบงำจากศาสนจักร ทฤษฎีของเขาเป็นการค้นพบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธรรมชาติโลกและจักรวาล จนเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ที่จะนำโลกตะวันตกสู่กลางเปลี่ยนแปลงมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน 



อ้างอิง
วิกิพีเดีย. (2565). นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565,      
            จาก https://kku.world/e0967
วรินทร์ สิงหเสมานนท์. (2564). นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส: นักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบว่าดวงอาทิตย์ 
            เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาล. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2565, 
            จาก https://thepeople.co/nicolaus-copernicus/
ศิลปวัฒนธรรม. (2562). 19 ก.พ. 1473 กำเนิด “โคเปอร์นิคัส” ผู้เสนอ “โลกไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล”  
            สะเทือนศาสนจักร. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565, จาก https://kku.world/rming
สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศ. (ม.ป.ป.). นิโคลัส โคเปอร์นิคัส : Nicolaus Copernicus. 
            สืบค้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565,
อดิศักดิ์ มหาวรรณ. (2557). นิโคลัส โคเปอร์นิคัส. สืบค้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565, 
            จาก https://kku.world/ybmin
sanook. (2556). นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus). สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2565, 
             จาก https://guru.sanook.com/5120/



Comments